ประกาศให้ทุน

ระเบียบ ประกาศ และข้อปฏิบัติ / ประกาศให้ทุน


สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต
 

นโยบายการจัดสรรงบประมาณวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2564

ประกาศให้ทุนสนับสนุนการวิจัย ประจำปีการศึกษา 2564

เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยของมหาวิทยาลัยรังสิต

 

เพื่อให้แนวทางนโยบายการจัดสรร ทุนสนับสนุนการวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ประจำปีการศึกษา 2564 ซึ่งมีความมุ่งหมายที่จะสนับสนุนอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา ให้ทำงานวิจัยร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพการวิจัยของมหาวิทยาลัยรังสิตในภาพรวม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทาง ยุทธศาสตร์การวิจัยของมหาวิทยาลัยรังสิตในระยะใหม่ที่เน้นสร้างสรรค์พัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิตให้ก้าวสู่การเป็น "Student-based Research University" และให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสังคมธรรมาธิปไตย และนโยบายด้านการศึกษาคือนวัตกรรมที่ประชุมตัวแทนที่เป็นทางการของสายงานคณะวิชา/วิทยาลัยและสายงานสถาบันวิจัยวิจัย เครือข่ายสถาบันวิจัย มีมติให้จัดสรรและจำแนกประเภททุนสนับสนุนการวิจัย ในกรอบงบประมาณอันจำกัด ที่ได้รับการจัดสรรในปีการศึกษา 2564 จำนวน 5,300,000 บาท ดังนี้

           1. ทุนวิจัยความรู้พื้นฐาน  

               (Basic Knowledge Research Fund) 

               (1,060,000 บาท)

            2. ทุนวิจัยและพัฒนา 

                (Research and Development Fund) 

                (1,060,000 บาท)

            3. ทุนวิจัยนวัตกรรมทางสังคมและการประกวดนวตกรรมสิ่งประดิษฐ์

                (Social Innovation and Invention Fund) 

                (1,060,000 บาท)

            4. ทุนวิจัยประยุกต์ 

               (Applied Research Fund) 

               (1,060,000 บาท)

            5. ชุดโครงการวิจัย

                (Research Program)

                (1,060,000 บาท)

****************************************************************

ประเภทงานวิจัยที่ขอรับทุนสนับสนุนการวิจัย

1. ทุนวิจัยความรู้พื้นฐาน (Basic Knowledge Research Fund)
    ลักษณะโครงการที่สนับสนุน คือ

   1.1 ทุนวิจัยองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นศาสตร์พื้นฐานต่อการพัฒนา เพื่อเสริมงานวิจัยประยุกต์ และงานวิจัยและพัฒนา เช่น โครงการวิจัยด้านภาษา ภาษาศาสตร์ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ วรรณกรรม วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ

   1.2 ทุนวิจัยและแปลผลงานทางวิชาการผลงานวิจัยรวมทั้งเอกสารชั้นต้นที่เป็นหลัก ฐานข้อมูลสำคัญ และวรรณกรรมที่มีคุณค่า สมควรจะ ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาไทย หรือผลงานในลักษณะเดียวกันของไทยที่สมควรจะได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาต่าง ประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

2. ทุนวิจัยและพัฒนา (Research and Development Fund)
   ลักษณะโครงการที่สนับสนุน คือ

การวิจัยพหุสาขาวิชา (Multidisciplinary Research) หรือการวิจัยเชิงสหวิทยาการแบบบูรณาการ เช่น การพัฒนาชุมชน การพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาผังเมือง การพัฒนาเทคโนโลยีที่เน้นการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์โดยตรง โจทย์วิจัยให้พัฒนาขึ้นจากการพิจารณาปัญหาเชิงโครงสร้าง และพื้นที่วิจัยสนามซึ่งมีความสัมพันธ์กัน โดยที่การวิจัยและพัฒนาให้ได้ผลจำเป็นต้องวิจัยทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค

3. ทุนวิจัยนวตกรรมสิ่งประดิษฐ์  (Innovation and Invention Fund)  ลักษณะโครงการที่สนับสนุน คือ

    3.1 โครงการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอาจารย์/เจ้าหน้าที่/นักศึกษาที่มีความสามารถในการ คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ ที่ริเริ่มและสร้างสรรค์ ให้ใช้ในการเรียนการสอนหรือวิถีชีวิตประจำวัน การคิดค้นอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือต้นแบบผลิตภัณฑ์ ขึ้นมาใช้ในระบบกายภาพหรือชีวภาพ ชุดสื่อการสอน โปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งผลงานสร้างสรรค์ทางศิลปะ เช่น สื่อสันทนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง โดยมีแนวทางการพิจารณาดังนี้

1.  เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีการคิดริเริ่มขึ้นเองอย่างสร้างสรรค์ และ

2.  เป็นนวัตกรรมเป็นการดัดแปลงจากผลิตภัณฑ์เดิมให้ใช้งานได้ดีขึ้นหรือด้วยราคาถูกลง

3.  เป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ ที่หาส่วนประกอบได้ภายในประเทศ และมีความเหมาะสมกว่าการซื้อจากต่างประเทศ กับทั้งยังไม่มีการผลิตขายในประเทศเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือผลิตภัณฑ์ ที่ผู้ขอรับการสนับสนุนได้ประดิษฐ์ไว้แล้ว และมีศักยภาพที่นำมาพัฒนาต่อ ให้ถึงระดับที่จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ใช้อย่างจริงจัง และมีผลเชิงพาณิชย์เป็นการออกแบบกระบวนการผลิตหรือเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่เกิดจากการวิจัยค้นคว้า ซึ่งสามารถผลิต เป็นต้นแบบได้เป็นสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรม ที่มุ่งหมายโดยตรงที่จะนำผลการค้นคว้าวิจัยไปจดทะเบียนสิทธิบัตรให้กับมหาวิทยาลัยรังสิต

4. ทุนวิจัยประยุกต์ ลักษณะโครงการที่สนับสนุน คือ การวิจัยที่มุ่งเสาะแสวงหาความรู้ และประยุกต์ใช้ความรู้หรือวิทยาการต่าง ๆ ให้เป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติหรือเป็นการวิจัยที่นำผลที่ได้ไปแก้ปัญหาโดยตรง การศึกษาค้นคว้าเพื่อหาความรู้ใหม่ๆ และมีวัตถุประสงค์เพื่อนำความรู้นั้นไปใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเป็นการนำเอาความรู้และวิธีการต่างๆ ที่ได้จากการวิจัยขั้นพื้นฐานมาประยุกต์ใช้อีกต่อหนึ่ง หรือหาวิธีใหม่ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ได้ระบุไว้แน่ชัดล่วงหน้า  การวิจัยประเภทนี้อาจนำผลการวิจัยพื้นฐานมาวิจัยต่อแล้วทดลองใช้ เช่น การวิจัยเกี่ยวกับอาหาร ยารักษาโรค การเกษตร การเรียนการสอน เป็นต้น ดังนั้นเราจึงไม่สามารถที่จะแยกการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยประยุกต์ออกจาก กันได้โดยเด็ดขาด

5. ทุนสนับสนุนชุดโครงการวิจัยเพื่อการพัฒนา (Applied Research Fund) ลักษณะชุดโครงการที่สนับสนุน คือ

การวิจัยพหุสาขาวิชา (Multidisciplinary Research) หรือการวิจัยเชิงสหวิทยาการแบบบูรณาการ เช่น การพัฒนาชุมชน การพัฒนาท้องถิ่น การพัฒนาผังเมือง การพัฒนาเทคโนโลยีที่เน้นการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์โดยตรง โจทย์วิจัยให้พัฒนาขึ้นจากการพิจารณาปัญหาเชิงโครงสร้าง และพื้นที่วิจัยสนามซึ่งมีความสัมพันธ์กัน โดยที่การวิจัยและพัฒนาให้ได้ผลจำเป็นต้องวิจัยทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค

โครงการวิจัยและพัฒนาลักษณะนี้ เรียกว่า ชุดโครงการ" (Research Program) ประกอบด้วยโครงการย่อย(Projects) ที่มีเป้าหมายรวม (Overall Goals) เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การพัฒนาข้อเสนอโครงการ โจทย์การวิจัยและแผนงานวิจัยของแต่ละโครงการย่อยจะต้องทำโดยมีการหารือร่วม ระหว่างโครงการย่อย ภายใต้การนำของหัวหน้าชุดโครงการ เพื่อให้ผลการวิจัยของแต่ละโครงการย่อยสอดคล้องเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และตอบสนองโจทย์วิจัยของชุดโครงการและเพื่อให้เป็นแนวทางในการกำหนดจุดมุ่งหมายของโครงการวิจัยให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเหมาะสมกับภารกิจของมหาวิทยาลัยรังสิต และตรงกับสภาพปัญหาของท้องถิ่นและประเทศ จึงทำการวิเคราะห์สภาพปัญหาและกำหนดเป็นยุทธศาสตร์การวิจัยรวมทั้งประเด็นการวิจัยดังนี้

กลุ่มเรื่องที่ควรวิจัยเร่งด่วนตามนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ พ.ศ.2560-2564

1. การเกษตรและอุตสาหกรรมฐานชีวาภาพ (Bio-Based)

2. ระบบโลจิสติกส์

3. เศรษฐกิจดิจิทัล

4. อุตสาหกรรมเป้าหมาย 

5. การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน

6. สังคมผู้สูงอายุ

7. การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพ

8. การท่องเที่ยว

9. การเป็นประชาคมอาเซียน

10. ความมั่นคงของรัฐและการเสริมสร้างธรรมาภิบาล

11. การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจพอเพียง

12. ยาเสพติด

กลุ่มเรื่องที่ควรวิจัยและสอดคล้องนโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ (พ.ศ. 2555-2559) ประกอบด้วย 7 ยุทธศาสตร์

1. เร่งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายและสนองตอบต่อประเด็นเร่งด่วนและมุ่งเน้นตามยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาประเทศ และภารกิจของหน่วยงาน โดยรัฐลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2. ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน

3. ส่งเสริมการนำกระบวนการวิจัย ผลงานวิจัย องค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม โดยความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ

4. เร่งรัดพัฒนาระบบวิจัยของประเทศให้เข้มแข็ง เป็นเอกภาพ และยั่งยืน รวมถึงสร้างระบบนิเวศการวิจัยที่เหมาะสม

5. พัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ

6. เพิ่มจำนวนและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

7. พัฒนาความร่วมมือของเครือข่ายวิจัยในประเทศและระหว่างประเทศ

การวิจัยตามประเด็นยุทธศาสตร์การพัฒนาในช่วงแผน ฉบับที่ 12 (2560-2564)

1. การยกระดับศักยภาพการแข่งขันและการหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางสู่รายได้สูง

2. การพัฒนาศักยภาพคนตามช่วงวัยและการปฏิรูประบบเพื่อสร้างสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ

3. การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม 

4. การรองรับการเชื่อมโยงภูมิภาคและความเป็นเมือง

5. การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

6. การบริหารราชการแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพ

หมายเหตุ สนใจส่งข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนอุดหนุนการวิจัย ตามรอบปีการศึกษา (3 รอบ : มิ.ย. / ก.ย. / ม.ค.)

ในเดือนมิถุนายน เดือนกันยายน และเดือนมกราคม โดยดาวน์โหลดแบบฟอร์มและเอกสารที่เกี่ยวข้องได้ที่                                 

rri.rsu.ac.th เลือก ดาวน์โหลดไฟล์ เลือกทุนวิจัย

- ดาวน์โหลด ประกาศ มรส. ว่าด้วยทุน

*****************************************************************************************************************************

- ทุนภายนอก

ระเบียบมหาวิทยาลัยรังสิต

ว่าด้วย

ทุนอุดหนุนการวิจัยจากแหล่งทุนภายนอก พ.ศ.2548

---------------------------

 

เพื่อให้การบริหารการเงินเกี่ยวกับงานวิจัยเป็นไปอย่างถูกต้อง เกิดความคล่องตัวและจูงใจให้มีการวิจัยเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการยิ่งขึ้น  สมควรมีระเบียบว่าด้วยทุนอุดหนุนการวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกเพื่อถือปฏิบัติต่อไป  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34(2) แห่งพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 โดยมติสภามหาวิทยาลัยรังสิต ในการประชุมครั้งที่ 2/2548 เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 จึงกำหนดระเบียบมหาวิทยาลัยรังสิต ว่าด้วย ทุนอุดหนุนการวิจัยจากแหล่งทุนภายนอกไว้ดังต่อไปนี้

              ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบมหาวิทยาลัยรังสิตว่าด้วยทุนอุดหนุนการวิจัยจากแหล่งทุนภายนอก พ.ศ.2548”

             ข้อ 2 ให้ใช้ระเบียบนี้นับแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

             ข้อ 3 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือเกณฑ์อื่นใดที่มีข้อความขัดหรือแย้งกับกำหนดแห่งระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน

             ข้อ 4 ในระเบียบนี้

                  “ทุนอุดหนุนการวิจัยจากแหล่งทุนภายนอก” หมายถึง เงินที่ได้มาจากแหล่งเงินภายนอกมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศและต่าง 

ประเทศ เพื่อใช้จ่ายในการวิจัย

                  “หน่วยงาน” หมายถึง คณะ วิทยาลัย บัณฑิตวิทยาลัย สถาบัน ศูนย์ แผนกอิสระ หรือหน่วยงานที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นใน

 มหาวิทยาลัย

              ข้อ 5 วิธีการบริหารการเงินและโครงการวิจัยของแต่ละโครงการให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่เจ้าของทุนกำหนด ในกรณีที่เจ้าของทุนไม่ได้กำหนดให้สถาบันวิจัยเป็นผู้จัดทำหลักเกณฑ์และจัดเป็นประกาศ ของมหาวิทยาลัย

              ข้อ 6 ให้ผู้รับผิดชอบโครงการตามประกาศจัดทำรายงานการรับจ่ายทุนอุดหนุนการวิจัยเสนออธิการบดีทุกสิ้นปีงบประมาณ และ/หรือเมื่อสิ้นสุดโครงการภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันปิดบัญชี

              ข้อ 7 ให้หน่วยตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัย แผนกการเงินหรือคณะกรรมการการเงินของหน่วยงานหรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาต เป็นผู้รับรองรายงานการจ่ายเงินอุดหนุนการวิจัย ตามข้อ 6

 

ประกาศ ณ วันที่ 19 เมษายน 2548

พลอากาศตรี กำธน สินธวานนท์

นายกสภามหาวิทยาลัย