ประวัติสถาบันวิจัย

เกี่ยวกับสถาบันวิจัย / ประวัติสถาบันวิจัย


         จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2544 เดิมใช้ชื่อว่า “สำนักวิจัย” มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิต ให้มีคุณภาพด้านการวิจัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้รวมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต” (Rangsit Research Institute) มีหน้าที่บริหารจัดการงานวิจัยซึ่งจำแนกป็นสามกลุ่ม ได้แก่ การวิจัยพื้นฐาน การวิจัยประยุกต์ และ การวิจัยและพัฒนา โดยการบริหารและการ ดำเนินงานอยู่ในโครงสร้างของ ฝ่ายวิชาการ และมีรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเป็นผู้กำกับดูแล โดยมีผู้อำนวยการที่ได้รับการแต่งตั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ดังนี้
          ปี พ.ศ. 2544 - 2545               ผู้อำนวยการ               ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรพจน์ วงศ์ใหญ่
          ปี พ.ศ. 2545 - 2547               ผู้อำนวยการ               ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. ชลธิรา สัตยาวัฒนา
          ปี พ.ศ. 2547 - 2560               ผู้อำนวยการ               รองศาสตราจารย์ ดร. พงษ์จันทร์ อยู่แพทย์
          ปี พ.ศ. 2562 - 2565               ผู้อำนวยการ               รองศาสตราจารย์ ดร. กานดา ว่องไวลิขิต 
          ปี พ.ศ. 2565 - ปัจจุบัน            ผู้อำนวยการ               ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เอกพล ลิ้มพงษา
       
         สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต ในระยะเริ่มแรก จัดตั้งขึ้นจากข้อเสนอและความเรียกร้องต้องการของคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีประสบการณ์ด้านวิจัย มีผลงานวิจัยเป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชนและสถาบันวิชาการภายนอก รวมทั้งหน่วยงานของชาติระดับรัฐและสถาบัน/องค์กรนานาชาติ ด้วยประสงค์ที่จะร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยรังสิตให้มีคุณภาพด้านการวิจัย เพราะเชื่อมั่นว่าคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยรังสิตมีศักยภาพที่แฝงเร้นด้านการวิจัยอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แต่ยังขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยที่เดิมมหาวิทยาลัยรังสิตมีเพียงหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยภายในขนาดเล็ก ภายใต้ชื่อว่า “สำนักวิจัย” มีผู้อำนวยการสำนักและเจ้าหน้าที่ธุรการเพียง 1 คน รวมเป็น 2 คน ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยแต่แรกตั้งจนถึงปีพุทธศักราช 2544 คือ ผศ. ดร. สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ ซึ่งมีภารกิจทั้งงานสอน งานบริหาร และงานพัฒนาหลักสูตร รวมถึงงานจัดตั้งคณะใหม่ด้วย คณาจารย์นักวิจัยจึงได้ถือโอกาสที่ท่านอธิการบดีก่อตั้ง ดร. อาทิตย์ อุไรรัตน์ ตัดสินใจกลับเข้ามาบริหารมหาวิทยาลัยรังสิตด้วยตนเอง ตั้งแต่ระยะต้นปี พ.ศ. 2544 เสนอแนวคิดดังกล่าว และท่านก็สนองตอบด้วยดี
         ดังนั้น ต้นปีการศึกษา 2544 หน่วยงานวิจัยและพัฒนา ชื่อ “สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม” จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นจากฐานงานวิจัยและพัฒนาด้านไทยศึกษา ในลักษณะของการจัดการ “จากล่างสู่บน” โดยข้อเสนอโครงการที่ยกร่างโดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาฯ คนแรกของมหาวิทยาลัยรังสิต และต่อมาได้รับการรับรองและให้ความเห็นชอบให้ดำเนินการได้ตามแผนยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และแผนงานที่เสนอต่อสภามหาวิทยาลัยรังสิต ตามมติของกรรมการสภามหาวิทยาลัยครั้งนั้น ได้อนุมัติการจัดตั้งหน่วยงานบริหารด้านการวิจัยที่เน้น การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เพื่อสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนางานด้านการวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัยรังสิต ให้มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ให้บริการวิชาการต่อสาธารณชน และบริการวิชาการแก่ชุมชน สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 ซึ่งสถาบันวิจัยได้ดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
        ในระยะแรกตั้งสถาบันวิจัยนั้นฯ ยังคงมี “สำนักวิจัย” (เดิม) บริหารการให้ทุนภายในของมหาวิทยาลัยรังสิต ในด้าน การวิจัยองค์ความรู้พื้นฐาน (Basic Knowledge) และ การวิจัยประยุกต์ (Applied Research) ทั้งสองหน่วยงานดังกล่าว คือ “สำนักวิจัย” และ “สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาฯ” ดำเนินงานอยู่ในโครงสร้างการบริหารของฝ่ายวิชาการของมหาวิทยาลัย มีรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเป็นผู้กำกับดูแล ในระยะนั้น คือ ศาสตราจารย์ ดร.ธีรยุทธ์ กลิ่นสุคนธ์
      ระยะปลายปีพุทธศักราช 2545 มหาวิทยาลัยได้มีคำสั่งยุบรวมหน่วยงานด้านวิจัยทั้งสองเข้าด้วยกัน และให้บริหารจัดการงานวิจัยทั้งสามด้าน คือ การวิจัยพื้นฐาน การวิจัยประยุกต์ และ การวิจัยและพัฒนา ภายใต้โครงสร้างการบริหารจัดการของ “สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาฯ” (เดิม) ตามประกาศ ลงวันที่ 19 กันยายน 2545 ให้ปรับเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นชื่อเรียกรวมว่า “สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต” (Rangsit Research Institute) ทั้งนี้การบริหารยังคงอยู่ในกำกับดูแลของฝ่ายวิชาการเช่นเดิม
         นับแต่ปีแรกตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาฯ โดยเหตุที่ก่อเกิด “จาก ล่าง สู่ บน” จึงได้มีการพัฒนาในทางโครงสร้างการบริหารจัดการด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ เป็นการทำงานร่วมกันใน ระบบเครือข่าย (Networking Line) มิใช่ ระบบสายบังคับบัญชา (Command Line) เกิดเป็นศูนย์วิจัยในเครือข่ายของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาฯ ที่นักวิจัยรวมตัวกันทำงานวิจัยด้วยใจรักและอาสาสมัคร มิใช่โดยการแต่งตั้งจากการกำหนดของผู้บังคับบัญชา หรือผู้บริหารชั้นเหนือขึ้นไป รวมทั้งสิ้น 6 ศูนย์ และ 1 โครงการจัดตั้ง ได้แก่ ศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ ศูนย์ไทย-เอเชียศึกษา ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาชนบท ศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ ศูนย์วิจัยสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ศูนย์วิทยาการพลังงาน และ โครงการจัดตั้งศูนย์สื่อและวัฒนธรรมศึกษา บางศูนย์วิจัยซึ่งได้ก่อตัวมาก่อนแล้ว เช่น ศูนย์วิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ และโครงการไทยศึกษา ซึ่งมีความเข้มแข็งด้านการวิจัยมาตั้งแต่ก่อนหน้าการจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาฯ ได้เป็น “ตัวแบบ” ที่สำคัญในการนำพาแนวคิด กระบวนทัศน์การวิจัยแนวสหวิทยาการ ที่เป็นแบบบูรณาการ และประสบการณ์วิจัยด้านบริหารจัดการในลักษณะเป็น “ชุดโครงการวิจัย” ขนาดใหญ่ ด้วยการแสวงหาแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากภายนอกทั้งในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งได้กลายเป็นแนวทางหลักในการพัฒนาความเติบโตของสถาบันวิจัย และการประกันคุณภาพของสถาบันวิจัย
            อนึ่ง ในปลายปีการศึกษา 2546 มหาวิทยาลัยได้มอบหมายและกำหนดให้ สำนักงานวางแผนพัฒนาคุณภาพและศูนย์สนับสนุนและพัฒนาการเรียนการสอน เป็นผู้ดำเนินการจัดสรรและให้การสนับสนุนทุนภายในของมหาวิทยาลัย เพื่อ การวิจัยด้านพัฒนาการเรียนการสอน การบริหารจัดการแยกส่วนออกจากกัน โดยที่มีโครงสร้างการบริหารที่ ต่างฝ่าย ต่าง “สายกำกับดูแล” และยังมิได้มีการปรึกษาหารือหรือประสานงานร่วมกันทำงานวิจัยหรือบริหารทุนวิจัยของมหาวิทยาลัยร่วมกัน อีกทั้งตามกำหนดวาระการดำเนินการ ที่ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานของสถาบัน ฯ (2544-2546) ในปีการศึกษา 2547 ได้ปรับเปลี่ยนผู้บริหารของสถาบันวิจัย ซึ่งปัจจุบันคือ รศ.ดร.พงษ์จันทร์ อยู่แพทย์ รวมถึงโครงสร้างการบริหารงาน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ประกอบด้วยคณะกรรมการที่ปรึกษา คณะกรรมการบริหาร คณะกรรมการวิชาการ คณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน คณะกรรมการรับผิดชอบและจัดการเกี่ยวกับการใช้สัตว์เพื่อทดลอง และคณะกรรมการเพื่อความปลอดภัยทางชีวภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต ทำหน้าที่พิจารณา รับผิดชอบ ตรวจสอบโครงการวิจัย และประสานงานกับคณะกรรมการกลางในประเด็นที่เกี่ยวข้อง และกำหนดแนวทางสำคัญของศูนย์วิจัยในเครือข่ายสถาบันวิจัยทั้ง 6 ศูนย์ และ 1 โครงการ ให้ปรับการบริหารจัดการ ทั้งด้านการดำเนินการ และงบประมาณ ที่มุ่งเน้นแนวทางการหาทุนการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายนอก และสังกัดการบริหารจัดการภายใต้คณะ/วิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง ต่อมาได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ ว 008/2550 ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2550 ให้ยุบสถาบันวิจัยเดิม และจัดตั้งสถาบันวิจัยขึ้นใหม่ โดยแยกออกเป็น 2 สถาบัน คือ สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมี รศ. ดร. พงษ์จันทร์ อยู่แพทย์ เป็นผู้อำนวยการ และ สถาบันวิจัยทางสังคมศาสตร์ มี ศ. (พิเศษ) ดร. ชลธิรา สัตยาวัฒนา เป็นผู้อำนวยการ และให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย
           ในปี 2550 มีคำสั่งมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ ว 044/2550 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2550 ให้สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ สถาบันวิจัยทางสังคมศาสตร์ ย้ายไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ หลังจากนั้น ได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ ว 053/2550 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2550 ให้ยุบสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ สถาบันวิจัยทางสังคมศาสตร์ ทั้งนี้ ให้จัดตั้งสถาบันวิจัยขึ้นมาใหม่ และให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ โดยมี รศ. ดร. พงษ์จันทร์ อยู่แพทย์ เป็นผู้อำนวยการและในปี 2556 มีคำสั่งมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ ว 022/2556 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2556 ให้ สถาบันวิจัย ย้ายไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ โดยมี รศ. ดร. พงษ์จันทร์ อยู่แพทย์ เป็นผู้อำนวยการ
           ปัจจุบันสถาบันวิจัย ย้ายไปอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย โดยมี รศ. ดร. กานดา ว่องไวลิขิต เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัย